มะม่วงหิมพานต์ เป็นไม้ยืนต้นอยู่ในวงศ์ “ANACARDIACEAE” มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ “Anacardirm occidentale Linn.” ชื่อพื้นเมืองมีหลายชื่อแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น “ยกร่อง (ใต้) กะแตแก (มาลายู,นราธิวาส) กายี (ตรัง) ตำหยาว ท้ายล่อ กาหยี ม่วงล่อ หัวครก กะแตแหล กาจู กาหยู ส้มม่วงชูหน่าย (ใต้) นายอ (มาลายู-ยะลา) มะม่วงกาสอ (อุตรดิตถ์) มะม่วงกุลา มะม่วงสังกา มะม่วงสิงหน มะม่วงหยอด (ภาคเหนือ) มะม่วงทูนหน่วย ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์มากที่สุดคือเมล็ด ซึ่งเป็นนัท ในกลุ่ม Tree nuts
ลักษณะทางพฤกษศาตร์ มะม่วงหิมพานต์เป็นต้นไม้ตระกูลเดียวกับมะม่วง เมื่อจำแนกตามสีของผลมี 2 พันธุ์คือ ผลสุกสีเหลืองจัด และผลสุกสีแดงคล้ำ
การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
การเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องควรปล่อยให้ผลแก่เต็มที่แล้วร่วงหล่นจึงเก็บเกี่ยวเอาที่พื้น ไม่ควรเก็บบนต้น เพราะจะได้เมล็ดอ่อนไม่แก่เต็มที่ เมื่อเก็บมาแล้วให้บิดเมล็ดออกจากผลทันที เพื่อป้องกันเชื้อรา (mold) เข้าทำลายเมล็ด นำเมล็ดไปตากแดด (sun drying) ประมาณ 2-3 วัน ให้เมล็ดแห้งสนิท (ความชื้นไม่เกิน 12%) เพื่อเก็บรักษาไว้ได้นาน โดยไม่เน่าเสีย นิยมเก็บใส่กระสอบรอการจำหน่ายต่อไป กระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ส่วนของเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ใช้รับประทานได้ (kernel) เป็นกระบวนการหลายขั้นตอน ที่จะต้องระมัดระวังในการนำเปลือกด้านนอกและส่วนที่อยู่ด้านในออก เพราะเป็นอันตรายต่อผิวหนังและนัยน์ตา สิ่งสำคัญที่ต้องระมัดระวังในโรงงานผลิตมะม่วงหิมพานต์ คือ ในเรื่องของความสะอาดและการควบคุมแมลงและสัตว์ที่มาทำลาย เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ได้ควรเก็บรักษาไว้ภายใต้บรรยากาศของไนโตรเจนหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อุณหภูมิ 8 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่า ในภาชนะที่ทำด้วยอะลูมิเนียมหรือแผ่นดีบุกหรือแผ่นเหล็ก มีอายุการเก็บรักษาได้เป็นปี มะม่วงหิมพานต์มีเอกลักาณ์เฉพาะตัวในเรื่องของกลิ่นและรสชาติ มีราคาสูง และเป็นที่สนใจของผู้บริโภค มีส่วนประกอบแตกต่างไปจากนัทชนิดอื่น คือ มีน้ำตาลร้อยละ 22 เมื่อเปิดภาชนะแล้ว ควรรีบนำไปรับประทานหรือใช้ประโยชน์โดยเร็วเพราะเกิดการหืนได้ง่าย